สำหรับกัญชาที่เราคุ้นเคยก็มีหลากหลายสายพันธุ์ ถูกจัดเป็นพืชวงศ์ตระกูล “Cannabesaae” และมีอยู่ราวๆ 3 สายพันธุ์ที่สามารถพบได้บ่อยทั้งในไทยและต่างประเทศเอง โดยคุณสมบัติและรูปร่างภายนอกก็แตกต่างกันไป โดยในบ้านเราเองหลังจากที่ปลดล็อกทางภาครัฐก็มีนโยบายแจกจ่ายต้นกัญชา 1 ล้านต้นไว้ให้สำหรับเพาะปลูกไว้ในครัวเรือนกัน เดียวเราจะพาไปทำความรู้จักกับกัญชาแต่ละสายพันธุ์ว่าเป็นอย่างไร และมีความแตกต่างกันยังไงบ้าง
กัญชามีกี่สายพันธุ์ ? และพันธุ์ของไทยที่ดังไกลระดับโลก (เลือกอ่านได้เลย)
กัญชาแต่ละสายพันธุ์ก็มีความมแตกต่างกันไปทั้งลักษณะทางกายภาพ รวมถึงสารสำคัญที่สามารถสกัดได้จากกัญชาอย่างสาร THC และ CBD นอกจากนี้จุดประสงค์ในการใช้งานก็มีความแตกต่างกันไปด้วยเช่นกัน หลักๆ แล้วกัญชาที่นิยมในทั่วโลกจะมีอยู่ด้วยกันราวๆ 3 สายพันธุ์เท่านั้น
กัญชาสายพันธุ์ซาติวา

ลักษณะใบของสายพันธุ์กัญชาซาติวา
กัญชาสายพันธุ์ซาติวา (Cannabis Sativa) เป็นสายพันธุ์ที่พบได้มากในบ้านเรา คำว่าซาติวามาจากภาษาละตินที่แปลว่า เพาะปลูก โดยสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดมาจากนักพฤษาศาสตร์ชาวสวีเดนที่ชื่อว่า “คาโรรัส ลินเนียส” และได้จัดวงศ์ของกัญชาพันธุ์นี้ไว้ตั้งแต่ปี 1796
แหล่งกำเนิดของมันพบได้ในบริเวณแถบเส้นศูนย์สูตรเช่น เม็กซิโก โคลัมเบีย ทวีปอเมริกา ตอนกลางของทวีปแอฟริกา และแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีบ้านเราด้วย
ลักษณะของสายพันธุ์ซาติวา
ลำต้นหนา มีความสูงประมาณ 6 เมตร ใบยาว มีแฉกอยู่ประมาณ 5 – 9 แฉก สีเขียวอ่อน ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ที่ 9 – 16 สัปดาห์ เป็นสายพันธุ์ที่ชื่นชอบแสงแดดและอากาศร้อนมาก และไม่แปลกเลยว่าทำไมสายพันธุ์นึ้ถึงได้รับความนิยมในบ้านเรา เพราะเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับอากาศบ้านเรามาก
ในสายพันธุ์ซาติวาจะมีสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทที่มากกว่าสายพันธุ์อื่นๆ แต่ข้อดีของมันหากใช้ถูกทางคือช่วยเพิ่มความอยากอาหาร ลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ด้วย รวมถึงนิยมนำมาผสมกับสาร CBD เพื่อเพิ่มสรรพคุณในการรักษาบางโรคได้อีกด้วย ข้อเสียของสายพันธุ์นี้ที่เห็นได้ชัดเลยคือการปลูก เพราะด้วยมันชื่นชอบอากาศร้อนชื้น ทำให้เกิดเชื้อราได้ง่ายมากและดูแลยากด้วย
กัญชาสายพันธุ์อินดิกา (Cannabis Indica)

ใบของสายพันธุ์กัญชาอินดิกา รูปจาก : Healthcareweekly
สายพันธุ์อินดิกาเป็นสายพันธุ์ที่พบได้มากในแถบประเทศอินเดีย ปากีสถาน โมร็อกโก และผู้ที่ค้นพบสายพันธุ์ดังกล่าวคือ “ฌอง-แบ๊บติสท์ ลามาร์ค” (Jean-Baptiste Lamarck) ทหารนักชีววิทยาชาวฝรั่งเศส และได้ตีพิมพ์ความรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์กัญชานี้ในปี 1785 โดยชื่อนี้ก็มาจากแหล่งกำเนิดที่เค้าค้นพบคือ “ประเทศอินเดีย”
ลักษณะของสายพันธุ์อินดิกา
ลักษณะของต้นจะเป็นแบบพุ่มเตี้ย ความสูงเมื่อโตสุดอยู่ที่ราวๆ 180 เซนติเมตร ใบกว้าง สั้น มีสีเขียวเข้ม กิ่งก้านดกหนา ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ราวๆ 6 – 8 สัปดาห์ กัญชาพันธุ์นี้ชอบอากาศเย็น สำหรับสายพันธุ์นี้จะมีสาร CBD มากกว่าสาร THC โดยสารตัวนี้จะนิยมใช้ทางการแพทย์ มีสรรพคุณในการลดอาการปวด การผ่อนคลาย ไม่มีอาการมึนเมาและอาการเสพติด และในสาร CBD หากนำมาสกัดในปริมาณที่เหมาะสมยังช่วยลดอาการชักได้ด้วย
กัญชาสายพันธุ์รูเดอราลิส (Cannabis ruderalis)

ใบของสายพันธุ์กัญชารูเดอราลิส รูปจาก : medicalmarijuanainc
สายพันธุ์รูเดอราลิสมีต้นกำเนิดอยู่ในแถบยุโรปและตะวันออกกลาง ถูกค้นพบโดยนักพฤษาศาสตร์ชาวรัสเซียที่มีนามว่า ดี.อี. จานิสเชสกี้ (D. E. Janischewsky) ค้นพบเมื่อปี 1924 กัญชาสายพันธุ์นี้สามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ราวๆ 10 สัปดาห์
ลักษณะของสายพันธุ์รูเดอราลิส
ลักษณะต้นของมันเตี้ยสุดหากเปรียบเทียบกับทั้ง 2 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ หากพบตามธรรมชาติจะมีความสูงเฉลี่ยที่ 30 – 80 เซนติเมตรเท่านั้น มีจำนวนกิ่งน้อย ใบกว้างมี 3 แฉก เติบโตได้เร็วมาก สารที่สำคัญในสายพันธุ์รูเดอราลิสจะมีสาร CBD มากกว่า THC และในการนำไปใช้มักจะนำไปผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างอินดิกาและซานติวาเพื่อนำไปผลิตเพื่อใช้ทางการแพทย์มากกว่า
ด้วยปริมาณของสาร THC ที่อยู่ในสายพันธุ์นี้มีน้อยจนเกินไป ทำให้ไม่นิยมนำมาสูบ เพราะมีปริมาณสาร THC น้อยเกินไป จึงทำให้นิยมนำมาสกัดเป็นยารักษาโรคหรือไม่ก็ผสมข้ามสายพันธุ์มากกว่า
สายพันธุ์กัญชาไทย “พันธุ์หางกระรอก”
คุณอาจจะเคยได้ยินว่า “กัญชาไทยดีที่สุดในโลก” มาบ้างจากในกลุ่มของผู้ที่ใช้งานกัญชาจากต่างประเทศ โดยชื่อของสายพันธุ์หางกระรอกชาวต่างชาติจะรู้จักในชื่อของ “Thai Stick” จัดได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่ดีที่สุดของโลกเลยทีเดียว โดยในสายพันธุ์หางกระรอกนั้นจะมีความโดดเด่นในเรื่องของสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ในปริมาณสูงมาก ให้ความเคลิบเคลิ้ม ซึ่งสายพันธุ์นี้นิยมอย่างมากในสมัยสงครามเวียดนาม จนทหารสหรัฐที่เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทยต่างก็ติดใจในสายพันธุ์ดังกล่าว และมีการส่งกลับไปที่สหรัฐด้วย
ลักษณะของสายพันธุ์หางกระรอก
ลักษณะของมันจะเป็นแท่งเรียวยาว เติบโตได้ดีมากกับอากาศของบ้านเรา เป็นสายพันธุ์ที่มีค่า THC สูงใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายโดยเฉพาะในทางการแพทย์ เรียกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ไทยแท้ๆ ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ โดยบ้านเราเองก็พยายามผลักดันให้นำกลับมาเพาะปลูกอีกครั้งหลังจากที่กัญชาถูกปลดล็อก และถูกปราบปรามไปตั้งแต่สมัยที่ยังผิดกฎหมายอยู่ เรียกได้ว่าเป็นของดีประจำบ้านเราเลย
คุณอาจจะเริ่มมีความสงสัยแล้วว่าระหว่างกัญชงและกัญชามีความแตกต่างกันอย่างไร จริงๆ แล้วแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย เพราะมันคือพืชตระกูลเดียวกันแต่เหมาะกับการใช้งานแตกต่างกันเท่านั้น หากคุณอยากรู้ว่าต่างยังไงลองกดลิงค์เข้าไปอ่านด้านบนเลย
กัญชาสายพันธุ์ Wild Seed พันธุ์ประกวดจากไทยสู่ระดับโลก
เชื่อได้เลยว่าสายเขียวหลายคนต้องรู้จักกับกัญชาสายพันธุ์ “Wild Seed” อย่างแน่นอน เพราะได้มีนักเพาะกัญชาชื่อดังอย่าง “World Of Seed” นำไปจากเกาะช้างบ้านเราและได้ไปต่อยอดและนำไปประกวดจนได้รับรางวัลกลับมา และได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่ของคนที่ใช้กัญชา ชาวต่างชาติบางคนจะเรียกสายพันธุ์นี้ว่า “Wild Thailand”

รูปดอกสายพันธุ์ Wild Seed ที่มา : worldofseeds
ลักษณะของสายพันธุ์ Wild Seed
Wild Seed เป็นกัญชาที่มีค่า THC สูงมากๆ นิยมในกลุ่มของคนที่ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ ตัวดอกจะมีลักษณะเป็นสีขาวค่อนข้างมาก และมีขนสีส้มขึ้นแซมอยู่ตามดอก ความสูงของลำต้นสูงได้ตั้งแต่ 1.3 เมตร ไปจนถึง 3 เมตรเลย รวมถึงพันธุ์ Wild Seed ยังมีความต้านทานต่อเชื้อราสูงอีกด้วย
สรุป
จริงๆ กัญชายังมีอีกหลากหลายสายพันธุ์ โดยเฉพาะในบ้านเราที่โดดเด่นก็จะมีอยู่ราวๆ 5 สายพันธุ์ ซึ่งก็มีปริมาณสารสำคัญแตกต่างกันไป รวมถึงการนำไปประยุกต์ใช้ด้วย โดยสารต่างๆ ที่เราสกัดได้มันนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย ทั้งการรักษาทางการแพทย์ ใช้สำหรับการผ่อนคลาย หรือใช้สำหรับอุตสาหกรรมอื่นๆ